ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หนังยาง...ยืดชีวิตพิชิตโรค

ช่วยกระตุ้นระบบประสาท พัฒนาการรับรู้ของกล้ามเนื้อ
          พักนี้ใคร ๆ ก็เข้าฟิตเนสที่มีเครื่องไม้เครื่องมือครบครันเพื่อสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องดี แต่สำหรับคนที่ ” มันนี่ ” ไม่เอื้อ ก็ยังมีวิธีการออกกำลังกายอื่น ๆ ซึ่งสะดวก สบาย แถมไม่แพง (เข้ากระแสพอเพียงอีกต่างหาก) มาแนะนำ“ยางยืด” นี่แหละ                       
          ยางยืดที่เราคุ้นชิน และหลายคนเคยเอามาร้อยคนยาวเอาไว้เล่นโดดหนังยางตอนเด็ก ๆ หรือเอามาเป่าเล่นกับเพื่อนนั้น วันนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเสริมสมรรถภาพร่างกายและกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี จนถึงกับได้รับรางวัลส่งเสริมสุขภาพดีเด่นแห่งชาติจากกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว       
          วิธีนำยางยืดมาใช้เพื่อสุขภาพก็ไม่ยาก แค่ใช้ยางวงขนาดใหญ่จำนวน 5-6 เส้นมาร้อยต่อกันเป็นลักษณะเหมือนข้อโซ่ให้ได้ประมาณ 36-40 ข้อ หรือถ้าเป็นคนรูปร่างสูงก็อาจใช้ถึง 40-45 ข้อ หรือมากกว่าตามรูปร่าง      
          คุณสมบัติของยางยืดคือจะมีปฏิกิริยาสะท้อนลับหรือมีแรงดึงกลับจากการถูกดึงให้ยืดออก ที่เรียกว่าสเทรทช์รีเฟล็กซ์ (Stretch Reflex) ทุกครั้งที่ยางถูกดึงให้ยืดจึงช่วยกระตุ้นระบบประสาทรับรู้ความรู้สึกของกล้ามเนื้อ เป็นผลดีต่อการพัฒนาและบำบัดรักษาระบบการทำงานของประสาทกล้ามเนื้อ และช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของระบบประสาทกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ รวมทั้งข้อต่อกระดูก นอกจากนั้นยังช่วยเสริมสร้างความอดทนของกล้ามเนื้อในหลายรูปแบบ ลดไขมัน ทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัว กระชับสัดส่วน
           ที่สำคัญการออกกำลังกายประเภทนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสะสมแคลเซียมไว้ในกระดูกทำให้กระดูกมีความหนาแน่น ป้องกันปัญหากระดูกบาง กระดูกพรุน ข้อติด ข้อเสื่อม และระบบโครงสร้างร่างกาย
          การออกกำลังกายด้วยยางยืดทำได้หลายท่าและสามารถออกได้ในเกือบทุกสัดส่วน ไม่ว่ากล้ามเนื้ออก ไหล่ หลัง ต้นแขน ลำตัว หน้าท้อง ขาด้านหน้า ด้านหลัง ฯลฯ แต่อาจจะต้องใช้เวลาฝึกบ้างเพื่อให้คุ้นเคย จนสามารถออกกำลังได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
          วิธีการออกกำลังกายด้วยยางยืดนั้น หากต้องการออกเพื่อบริหารกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาด้านหน้าก็ให้ยืดแขนเหยียดตรงข้างลำตัว ใช้เท้าเหยียบยางไว้ มือทั้งสองจับที่ปลายเส้นแต่ละข้าง งอสะโพก งอเข่า แล้วย่อตัวลงจนกระทั่งต้นขาเกือบขนานหรือขนานกับพื้น หลังเหยียดตรง มองตรงไปข้างหน้า จากนั้นเหยียดสะโพก เหยียดเข่ากลับเข้าสู่ท่ายืนตรง 
ข้อควรระวังในท่านี้คือขณะงอเข่าและย่อตัวลงหลังต้องไม่งอ และเข่าที่งอจะต้องไม่เลยปลายเท้า          
          การออกกำลังกายวิธีนี้ไม่ใช่แค่มาดึง ๆ ยางเท่านั้น แต่ต้องรู้ว่าจะออกกำลังส่วนใด ใช้แรงอย่างไร นั่นคือต้องแนบแขนชิดลำตัวเมื่อต้องการออกกำลังกายส่วนแขน หลังต้องไม่งอเมื่อออกกำลังกายส่วนเอวเป็นต้น          
          เมื่อรู้เคล็ดลับแล้วก็ไม่ยากที่จะออกกำลังกาย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มแรงต้านโดยใช้วิธีการร่นยาง นั่นคือในการออกกำลังกายสะโพก หากอยากได้แรงมากขึ้นก็เพียงแต่เหยียบยางไว้ให้มาก เพื่อให้สายสั้นลง หรือหากต้องการแรงผลักให้มากขึ้นในการออกกำลังกายก็สามารถเพิ่มจำนวนยางมากกว่าปกติได้ โดยเพิ่มที่ข้อที่ 13 หรือ 15 และข้อที่ 23-25          
          ขณะเดียวกันก็แนะนำให้สอดยางไว้ระหว่างข้อดังกล่าวอีก 1 ชุด โดยใช้เส้นยางจำนวนที่เท่ากัน เส้นยางที่สอดระหว่างข้อนี้มีไว้สำหรับคล้องรัดข้อเท้าหรือคล้องกับที่ยึดเกาะ เช่น ขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ ขณะออกกำลังกายในบางท่า และควรหาวัสดุเหลือใช้ เช่น ท่อพีวีซีมาดัดแปลงสอดตรงปลายยางเพื่อใช้เป็นที่จับเพิ่มความสะดวก     
          ง่าย ๆ และประหยัด ๆ อย่างนี้ แต่ก็เป็นวิธีที่ทำให้แข็งแรงได้เหมือนกัน